นโยบายประจำปี 2567 ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM) “RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต”
นโยบายประจำปี 2567 ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM)
“RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต”
โลกในยุคปัจจุบันกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นโลกที่มี ความเปราะบางจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความเสียหายได้ตลอดเวลา มีความกังวลจากสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน มีหลายสิ่งที่ไม่อาจคาดเดาหรือคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น อีกทั้งยากเกินกว่าที่จะเข้าใจและตัดสินใจแม้มีข้อมูลมากมาย สะท้อนได้จาก การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย อาทิ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Technological Breakthrough) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร (Demographic Change) ภาวะโลกเดือด (Global Boiling) ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย (Global Recession) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) ซึ่งได้สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างต่อทุกภาคส่วน ไม่เว้นแม้แต่ภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเผชิญความเสี่ยงและความผันผวนจากสถานการณ์ดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM) ยังคงมุ่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพันธกิจอย่างต่อเนื่องในการสร้าง ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาสมรรถนะของภาคอุตสาหกรรม วิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ และผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล สร้างมูลค่าเพิ่มและผลิตภาพที่ยั่งยืน ให้พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม (MIND) ภายใต้การบริหารของ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้มอบนโยบายสำคัญให้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมผ่านโครงการและมาตรการต่าง ๆ ควบคู่กับการสร้างการรับรู้และการสื่อสารภารกิจของหน่วยงานให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายตามแนวคิด “คิดถึงธุรกิจ คิดถึงดีพร้อม”
เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลง ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อให้พร้อมรับมือกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน และอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM) จึงได้กำหนดนโยบายประจำปี 2567 “RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต” เพื่อให้เป็นกรอบทิศทางการดำเนินงานที่สอดรับกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับโลก (Megatrends) ภายใต้ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจและสังคมโลกยุคใหม่ โดยมุ่งหวังให้กลุ่มเป้าหมายทุกระดับสามารถยืนหยัด รับมือ และปรับตัวได้เท่าทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงที่อาจส่งผลกระทบต่อ การดำเนินธุรกิจ มีศักยภาพในการแสวงหาโอกาสและผลประโยชน์จากความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้สามารถอยู่รอดและพร้อมก้าวสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต ผ่าน 3 กลยุทธ์ ดังนี้
(1) RESHAPE THE INDUSTRY : ปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่
- DIGITAL TRANSFORMATION : เศรษฐกิจดิจิทัล พัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัวได้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างไร้รอยต่อ โดยนอกจากจะสนับสนุนให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งในด้านการพัฒนาบุคลากร (People) กระบวนการผลิต (Process) และการตลาด (Marketing) ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product) ที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีดิจิทัล อีกทั้งผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) ระบบอัตโนมัติ (Automation) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยเฉพาะ ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) มาปรับใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- CLIMATE CHANGE : เศรษฐกิจชีวภาพ / เศรษฐกิจหมุนเวียน / เศรษฐกิจสีเขียว สร้างการเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยสร้างความตระหนักรู้และการจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งการพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้ด้าน BCG และมาตรการสำคัญ อาทิ Thailand Taxonomy / CBAM การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ อาทิ Life Cycle Assessment (LCA) / Carbon Footprint of Product (CFP) / Carbon Footprint of Organization (CFO) / Circular Enterprise / Eco-Certified / Upcycled Product / Biomass และการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากความหลากหลายทางชีวภาพ อาทิ ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยชีวภาพ
- AGING SOCIETY : เศรษฐกิจสูงวัย / เศรษฐกิจสุขภาพ สร้างโอกาสใหม่ให้กับภาคอุตสาหกรรมจากการที่ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว โดยพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสิ่งที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ ขยายโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ด้วยการพัฒนาสินค้าและบริการในกลุ่ม Wellness & Healthcare ที่สอดคล้องกับกระแสความตื่นตัวในการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่มีส่วนช่วยสร้างเสริมสุขภาพ อาทิ อาหารแห่งอนาคต (Future Food) อาหารจากซูเปอร์ฟู้ด (Super Food) ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (Herbal Product) เพื่อรองรับ การขยายตัวของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism)
- SOFT POWER : เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ให้เป็นอีกหนึ่งฟันเฟือง ในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และส่งเสริมบทบาทความเป็นผู้นำของประเทศไทยในเวทีโลก ด้วยการยกระดับความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการให้สามารถสร้างมูลค่าและรายได้ รวมถึงพัฒนาต่อยอดศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นในการนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งถือเป็นจุดแข็งและต้นทุนที่สำคัญของประเทศ โดยมุ่งพัฒนาให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมใน 2 สาขาเป้าหมาย ได้แก่ สาขาอาหาร ภายใต้แนวทางครัวไทย สู่ครัวโลก และสาขาแฟชั่น ด้วยการยกระดับแฟชั่นสู่ไลฟ์สไตล์ใหม่ที่เน้นคุณค่า คุณภาพ และความคิดสร้างสรรค์
- DEFENCE INDUSTRY : อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ให้เป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยอาศัยกลไกลความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการ วางกรอบทิศทางการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งการส่งเสริมผู้ประกอบการในกลุ่มที่มีศักยภาพอยู่แล้วและกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมอื่น การพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (Defence Technology) โดยเฉพาะเทคโนโลยีสองทาง (Dual-Use Technology) เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านความมั่นคงควบคู่กับเชิงพาณิชย์ รวมถึงสร้างเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงและ เพิ่มช่องทางการตลาด อันเป็นการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศและพัฒนาต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกต่อไป
(2) RESHAPE THE AREA : ปรับเปลี่ยนการพัฒนาเชิงพื้นที่
- ECONOMIC CORRIDOR : ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบใหม่ใน 4 ภาค ประกอบด้วย ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก (CWEC) และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) โดยพัฒนาและเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตและบริการ บริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานเชิงกลยุทธ์ สร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่อุปทานให้กับสินค้าและบริการ ที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมเป้าหมายของแต่ละพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการและชุมชนมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างทั่วถึง
- COMMUNITY TRANSFORMATION : ชุมชนเปลี่ยน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากด้วยการเปลี่ยนชุมชน ให้ดีพร้อมโดยบริบทของอุตสาหกรรม มุ่งเน้นการพัฒนาแบบองค์รวมที่ครอบคลุมทั้งชุมชนมิใช่เพียงเฉพาะราย ภายใต้ การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน โดยใช้เครื่องมือ กระบวนการ หรือเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับระดับศักยภาพของแต่ละชุมชน เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายหรือสภาพปัญหาภายในชุมชนได้อย่างแท้จริง รวมถึงเชื่อมโยงและ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve) เข้ามามีส่วนร่วมและบทบาทในการเปลี่ยนชุมชนในรูปแบบพี่ช่วยน้อง (Big Brother) โดยมุ่งหวังให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ชุมชนดีพร้อมที่มีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว
(3) RESHAPE THE ACCESSIBILITY : ปรับเพิ่มการเข้าถึงโอกาส
- UNLOCKING ACCESS : ปลดล็อกข้อจำกัดการเข้าถึง พัฒนาปัจจัยสนับสนุนที่เอื้อต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการส่งเสริมการเข้าถึงบริการภาครัฐอย่างครบวงจรผ่านระบบออนไลน์ด้วยแพลตฟอร์มระบบบริการดีพร้อม (DIPROM E-Service) ทั้งข้อมูลข่าวสาร คลังความรู้ การฝึกอบรมออนไลน์ การปรึกษาแนะนำออนไลน์ ตลาดออนไลน์ เงินทุนหมุนเวียน และการรับสมัครเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ เพื่อเป็นการกระจายการให้บริการอย่างทั่วถึงและครอบคลุมกับทุกความต้องการในแต่ละพื้นที่มากยิ่งขึ้น รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยการพัฒนากลไกการค้ำประกันสินเชื่อกลุ่ม SMEs ที่มีศักยภาพแต่ขาดหลักประกันให้ได้รับสินเชื่อที่เพียงพอกับความต้องการ พร้อมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อรูปแบบใหม่ที่สอดรับกับศักยภาพของกลุ่มเป้าหมายและการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance)
- DIPROM CONNECTION : ขยายเครือข่ายความร่วมมือ เร่งเดินหน้าขยายความร่วมมือและสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและผู้ประกอบการร่วมกัน ด้วยการเชื่อมโยงกับองค์กรภาครัฐและเอกชนทั้งในและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นของประเทศต่าง ๆ ในลักษณะ Local-to-Local ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างโอกาสทางธุรกิจที่เอื้อต่อการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย ผ่านการเชื่อมโยงกับ Big Brother การสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การส่งเสริมการลงทุน การเจรจาจับคู่ธุรกิจ การพัฒนารูปแบบการส่งเสริมอุตสาหกรรม ตลอดจนการดำเนินโครงการเฉพาะกิจหรือโครงการพิเศษต่าง ๆ
--------------------------------------------------------